ชา: ประวัติศาสตร์เครื่องดื่ม 5,000 ปี สู่มือคุณ
top of page

ชา: ประวัติศาสตร์เครื่องดื่ม 5,000 ปี สู่มือคุณ

อัปเดตเมื่อ 1 ส.ค. 2565


ประวัติศาสตร์ชา

คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า “ชา” ถือเป็นหนึ่งในเครื่องดื่มยอดนิยมแทบจะทุกแห่งบนโลก โดยกว่าที่ชาจะกลายมาเป็นเครื่องดื่มของมนุษยชาติในทุกวันนี้ ก็มีประวัติศาสตร์ยาวนานย้อนกลับไปได้ไกลถึง 2,700 ปีก่อนคริสตกาลเลยทีเดียว


หากคุณเป็นคนหนึ่งที่หลงรักรสชาติและประโยชน์ของคอมบูชา ก็คงทราบดีว่า “ชา” คือส่วนประกอบพื้นฐานสำคัญที่ทำให้คอมบูชาเกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ ชายังเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของหลายๆคน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่มดับกระหาย หรือดื่มแบบร้อนก็ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย


หากคุณลองสังเกตให้ดีจะพบว่าบนโลกนี้มีคำเรียกชาอยู่เพียง 2 ประเภทเท่านั้น นั่นก็คือ “ชา” (cha) และ “tea หรือ te” โดยอาจจะสะกดหรือออกเสียงแตกต่างกันไปบ้างตามแต่ละภูมิภาค จึงทำให้เห็นว่า ประวัติศาสตร์ที่มาของชานั้น มีต้นกำเนิดมาจากที่เดียวกัน ก่อนจะเดินทางไปไกลและเป็นที่นิยมทั่วโลกในปัจจุบัน


ถ้าอย่างนั้นชาถือกำเนิดมาจากไหน แล้วชาเดินทางไปสู่ทั่วทุกมุมโลกได้อย่างไร เราไปค้นพบคำตอบพร้อมๆกันเลยครับ


ต้นกำเนิดชาในโลกตะวันออก


วัฒนธรรมการดื่มชาแท้จริงแล้วมีต้นกำเนิดมาจากโลกตะวันออกย้อนหลังไปได้ไกลถึง 2,737 ปีก่อนคริสตกาล หรือประมาณ 4,700 ปีก่อน


โดยในโลกตะวันออกมักมองชาในฐานะน้ำอมฤต (elixir of life) อันศักดิ์สิทธิ์ที่มีคุณประโยชน์วิเศษมากมาย ในบางวัฒนธรรมยังมีการดื่มชาที่เป็นขั้นตอนเคร่งครัด เพื่อเป็นการให้เกียรติการดื่มชาในฐานะพิธีอันศักดิ์สิทธิ์อีกด้วย


โดยชื่อเรียกทั้งสองแบบของชา ทั้ง “cha” และ “te” ล้วนมีต้นกำเนิดมาจากภาษาจีนเหมือนกัน เพียงแต่อ่านออกเสียงในแต่ละภูมิภาคแตกต่างกัน และถูกนำไปเผยแพร่ต่อไปทั่วโลกโดยชาวต่างชาติ นั่นก็คือ:


  • ชา (Cha): มาจากการอ่านออกเสียงแบบกวางตุ้งที่ใช้กันในแถบมณฑลกวางโจวในบริเวณ พาณิชย์อย่างฮ่องกงและมาเก๊า ซึ่งมีการติดต่อค้าขายกับชาวโปรตุเกสเป็นอย่างมาก และชาวโปรตุเกสก็ได้นำคำนี้ไปเผยแพร่ต่อในบริเวณประเทศอินเดียช่วงศตวรรษที่ 16 นั่นเอง

  • Te: มาจากสำเนียงฮกเกี้ยน โดยใช้ในแถบท่าเรือ Xiamen และ Quanzhou ที่ต้องติดต่อกับชาวยุโรปตะวันตกรวมไปถึงชาวดัตช์ ที่ได้นำคำนี้ไปเผยแพร่ต่อในดินแดนอาณานิคมอย่างชวา และทำการค้าขายกับชาวมาเลย์ และชาวดัตช์ได้นำคำนี้ไปใช้อย่างแพร่หลายในยุโรปตะวันตก จนทำให้ชาวอังกฤษรับมาใช้เป็นคำว่า “tea” ในปัจจุบัน


ตำนาน (จักรพรรดิ) เฉินหนง

เทพเจ้าเฉินหนง ต้นกำเนิดตำนานประวัติศาสตร์ชา
เทพเจ้าเฉินหนง

คำบอกเล่าที่เก่าแก่ที่สุดเกี่ยวกับต้นกำเนิดชา ก็จะเป็นตำนานการกำเนิดชาเมื่อ 2,737 ปี ก่อนคริสตกาล โดยจักรพรรดิหรือเทพเจ้าที่มีชื่อว่า “เฉินหนง” (Shennong หรือ Shen Nung)


ตำนานแรกกล่าวไว้ว่า จักรพรรดิเฉินหนงค้นพบใบชาเข้าโดยบังเอิญระหว่างกำลังนั่งพักอยู่ใต้ต้นไม้และให้บ่าวไพร่ต้มน้ำร้อนมาให้ ระหว่างนั้น มีใบไม้จากต้นไม้นั้นปลิวหล่นลงไปในถ้วยน้ำ ด้วยความที่จักรพรรดิรู้รอบเรื่องสมุนไพร จึงตัดสินใจลองดื่มน้ำที่มีรสของใบไม้ใบนั้นซึมซาบอยู่ในน้ำด้วย ใบไม้ใบนั้นร่วงมาจากต้น Camellia sinensis ตั้งในปัจจุบันก็คือต้นชานั่นเอง


อีกตำนานหนึ่งกล่าวว่าเฉินหนงคือเทพแห่งการเพาะปลูกและผู้คิดค้นการกสิกรรม เขาเผลอถูกพิษเข้าโดยบังเอิญถึง 72 ครั้งระหว่างการเสาะหาสมุนไพรและธัญพืชที่กินได้ แต่ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตลงเพราะพิษต่างๆ ก็มีใบไม้ใบหนึ่งปลิวเข้าปากพอดี พอได้เคี้ยวใบไม้ใบนั้นร่างกายเขาก็กลับฟื้นตัวขึ้นอย่างเป็นปาฏิหาริย์ ใบไม้ใบนั้นก็คือใบชานั่นเองครับ


กำเนิดชาในประเทศจีน

การทำไร่ชาในจีน
การทำไร่ชาในจีน ช่วงราชวงศ์ชิง

มีหลักฐานโบราณคดีที่ยืนยันว่ามีการปลูกต้นชาไว้ในประเทศจีนตั้งแต่เมื่อ 6,000 ปีก่อน แต่ก่อนหน้านี้ชาวจีนบริโภคใบชาในฐานะส่วนประกอบในอาหาร ทั้งการกินแบบผักหรือการนำไปต้มกับโจ๊ก


จนในสมัยราชวงศ์ฮั่นก็เริ่มมีหลักฐานเกี่ยวกับการต้มชา จนเมื่อ 1,500 ปีที่ผ่านมาถึงเริ่มมีการค้นพบวิธีการสรรค์สร้างรสชาหลากหลายรูปแบบ นำมาสู่กรรมวิธีการผลิตชา 3 วิธี นั่นก็คือ การใช้ความร้อน การอัดชาให้เป็นก้อน และการบดใบชาให้เป็นผง โดยวิธีการหลังสุดนี้ กลายเป็นเครื่องดื่มที่เรียกว่า “โหม่ฉา (Mǒchá)” หรือผงชามัทฉะที่เรารู้จักกันในปัจจุบันนั่นเองครับ


การค้นพบกรรมวิธีการผลิตชาได้นำไปสู่วัฒนธรรมการดื่มชาในจีนอันเป็นเอกลักษณ์และเป็นที่ชื่นชอบของชาวจีน จนศิลปินหลากหลายสาขาล้วนนำไปพัฒนาในงานศิลป์ของตน อย่างเล่าจื๊อ นักปรัชญาคนสำคัญของจีน ได้พรรณนาลักษณะของชาไว้ว่าเป็นดั่งฟองแห่งหยกไหล และเป็นส่วนผสมที่ขาดไม่ได้ในน้ำอมฤต


วัฒนธรรมการดื่มชาได้แพร่กระจายไปทั่วอาณาจักรในสมัยราชวงศ์ถังกลางศตวรรษที่ 8 และได้แพร่กระจายไปทั่วเอเชียตะวันออก ทั้งเกาหลี ญี่ปุ่น และเวียดนามนับแต่นั้น


กรรมวิธีการผลิตชาและความนิยมในรูปแบบของชาเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงในราชวงศ์ซ่ง เมื่อเริ่มมีการผลิตชาแบบเต็มใบ (Loose-leaf Tea) โดยไม่มีการอัด ที่สามารถรักษาคุณลักษณะรสชาติของชาแต่ละชนิดไว้ได้ดีกว่า อันเป็นที่นิยมมาจนถึงปัจจุบัน


เมื่อถึงช่วงราชวงศ์หมิง จักรพรรดิจีนก็ได้เปลี่ยนมาตรฐานการผลิตชาจากการอัดใบชาขึ้นรูปมาเป็นตูมชาแห้งหรือชาเต็มใบโดยไม่มีการอัด และในช่วงราชวงศ์นี้ ก็ได้มีกรรมวิธีการผลิตชาแบบใหม่ๆเกิดขึ้น ทั้งการคั่วชาที่ช่วยหยุดกระบวนการ Oxidation ในใบชา การทำให้ใบชามีสีคล้ำเข้ม แต่เมื่อนำไปต้มน้ำ ชาที่ได้จะมีสีเขียวใสไม่ดูหมอง และในศตวรรษที่ 15 ผู้ผลิตลองนำเอาใบชามาหมักในระยะสั้นก่อนจะนำไปคั่ว จึงก่อเกิดเป็นชาอู่หลงขึ้น แต่ชาชนิดนี้กลับไม่ถูกปากชาวตะวันตกที่ชอบชาดำที่ผ่านกระบวนการ Oxidation อย่างเต็มที่มากกว่าครับ


กำเนิดชาในประเทศญี่ปุ่น

โรงน้ำชาญี่ปุ่นในสมัยโบราณ
โรงน้ำชาญี่ปุ่นในสมัยโบราณ

ในศตวรรษที่ 9 สมัยราชวงศ์ถังที่ชาเริ่มแพร่กระจายไปช่วยเอเชียตะวันออก ได้มีพระญี่ปุ่นรูปหนึ่งเป็นผู้นำชาต้นแรกมายังประเทศญี่ปุ่น ในช่วงแรกเริ่ม ชาเป็นเครื่องดื่มของเหล่านักบวชและเริ่มแพร่เข้าสู่ราชสำนักในปี 1191 ชาก็เริ่มเป็นที่รู้จักในหมู่ชนชั้นซามูไรและชนชั้นขุนนาง


ชาเขียวถือเป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมการดื่มชาญี่ปุ่น โดยถือเป็นเครื่องดื่มของชนชั้นสูงและนักบวชศาสนาพุทธ โดยพิธีชงชาในญี่ปุ่นก็มีต้นกำเนิดมาจากประเพณีของชาวพุทธในประเทศจีน และถูกพัฒนาขึ้นโดยพระนิกายเซนนานนับศตวรรษ จนกลายมาเป็นธรรมเนียมการชงชาในแบบของตนเองได้ในที่สุด


การเดินทางของชาสู่ทั่วทุกมุมโลก


เมื่อชามาถึงยุโรป


แม้วัฒนธรรมการดื่มชาจะเฟื่องฟูเป็นอย่างมากในทวีปเอเชียมานานนับพันปี ชาเพิ่งเข้าสู่ยุโรปและเริ่มเป็นที่รู้จักตั้งแต่เมื่อเพียงปลายศตวรรษที่ 16 นี้เอง โดยชาวโปรตุเกสที่เคยอยู่อาศัยในโลกตะวันออกโดยเฉพาะในมาเก๊า ทั้งผู้ที่เป็นพ่อค้าและมิชชันนารีที่นำใบชากลับมาเป็นของฝากให้ญาติและเพื่อนฝูง ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้ที่เริ่มทำการค้าขายชาในเชิงพาณิชย์กลับเป็นชาวดัตช์ที่เริ่มเข้ามามีอิทธิพลในเส้นทางการค้ากับโลกตะวันออกแทนชาวโปรตุเกส


โดยชาวดัตช์ได้ตั้งศูนย์การพาณิชย์อยู่ที่เกาะชวา แล้วเริ่มส่งออกใบชาจากเมืองจีนเข้าสู่ฮอลแลนด์จนชากลายเป็นสินค้านำสมัยและเป็นที่นิยมในหมู่ชนชั้นสูงชาวดัตช์ และได้แพร่กระจายออกไปทั่วยุโรปตะวันตกนั่นเองครับ


อังกฤษกับการเป็นจ้าวแห่งชายุคใหม่

วัฒนธรรมการดื่มชาในอังกฤษ

แม้ในยุโรปชาจะเริ่มเป็นที่นิยมตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 16 แต่ชาเพิ่งเริ่มเป็นที่รู้จักบนเกาะอังกฤษอีกกว่า 50 ปีถัดจากนั้น โดยเริ่มมีผู้นำมานำชามาขายในร้านกาแฟร้านแรกของอังกฤษที่กรุงลอนดอนในปี 1652 ซึ่งในขณะนั้นชายังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก โดยดูได้จากโฆษณาในหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับชาในปี 1658 ก็ยังพูดถึงชาในฐานะ “เครื่องดื่มที่มาจากจีน” อยู่เลยครับ


จนในปี 1662 พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 ของอังกฤษ ได้อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงชาวโปรตุเกสที่มีชื่อว่า Catherine of Braganza ซึ่งพระองค์ทรงโปรดการดื่มชาเป็นอย่างมาก เหตุการณ์นี้จึงผลักดันให้การดื่มชากลายมาเป็นกิจกรรมทางสังคมยอดนิยมของชนชั้นสูงในขณะนั้นไปโดยปริยาย


เหตุการณ์ข้างต้นยังไม่สำคัญเท่ากับการที่อังกฤษได้ก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจในการค้าขายชาเชิงพาณิชย์ และทำให้ชากลายเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคที่สำคัญของโลก


ในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 อังกฤษพยายามที่จะยึดครองอำนาจผูกขาดการค้าชาจากจีน โดยการหาทางปลูกชาในอินเดียให้ได้แทน ในปี 1824 อังกฤษได้ใช้พื้นที่อาณานิคมในแคว้นอัสสัม รวมถึงซื้อที่ดินจากราชาแห่งสิกขิมในพื้นที่ที่ปัจจุบันเรียกว่าดาร์จีลิง (Darjeeling) เพื่อลองปลูกชา แต่ชาชนิดนี้ เป็นสายพันธุ์พื้นถิ่นแตกต่างจากในจีนที่เรียกว่า Camillia sinensis var. assamica ที่ให้รสขมและฝาดมากกว่า


ความสำเร็จในการผลิตชาดำอัสสัมนี้ถือเป็นความภาคภูมิใจอันยิ่งใหญ่ของชาวอังกฤษที่ใฝ่ฝันจะเข้ามาควบคุมตลาดชาแทนที่จีนได้ จนถึงขั้นที่ขนาดชาอัสสัมล็อตที่ถูกประเมินว่าเกรดต่ำในขณะนั้น ถูกประมูลในลอนดอนด้วยราคาสูงถึง 168 ดอลลาร์ต่อปอนด์ ซึ่งถือว่ามีราคาสูงมากเมื่อเทียบกับราคาชาในปัจจุบัน


ด้วยความสำเร็จนี้ เบสชาดำอังกฤษก็ได้ถูกพัฒนามาเป็นชาเบลนด์รสชาติต่างๆ ทั้ง English Breakfast และ Earl Grey อันเป็นที่นิยมในโลกตะวันตกปัจจุบัน


นอกจากนี้ เรายังเห็นได้ว่าชาวตะวันตกนิยมดื่มชาดำมากกว่าชาเขียว นั่นก็เป็นเพราะในช่วงเดียวกันกับที่ชาวอังกฤษเริ่มต้นปลูกชาในทวีปเอเชียใต้ ชาวอังกฤษก็ค้นพบว่าผู้ผลิตชาจากจีนมักจะใส่ผงสีที่ปนเปื้อนสารปรอทลงไปในชาเพื่อทำให้สีของชาดูสดและเขียวมากขึ้น ถือว่าน่าตกใจสำหรับชาวตะวันตก เอามากๆ เพราะจีนกับตะวันตกได้ทำการค้าขายชามากว่า 300 ปี แต่เพิ่งจะค้นพบความจริงข้อนี้ จึงยิ่งทำให้การบริโภคชาเขียวในยุโรปลดน้อยลงไปอีก จนเหลือแต่เพียงวัฒนธรรมการดื่มชาดำมาจนถึงปัจจุบันครับ


การดื่มชาในยุคปัจจุบัน


ในช่วงศตวรรษที่ 19 และศตวรรษที่ 20 การค้าขายชายังวนเวียนอยู่กับธุรกิจรายใหญ่และการประมูลชา เป็นหลัก แต่ในปลายศตวรรษที่ 20 การประมูลเหล่านี้ก็เริ่มลดน้อยลงไป สิ่งที่เข้ามาแทนที่ก็คือการผลิตชาจำนวนมากแบบ Mass Production ในรูปแบบของถุงชา ที่ถูกประดิษฐ์คิดค้นขึ้นในสหรัฐอเมริกาช่วงต้นศตวรรษที่ 20 และเริ่มเป็นที่นิยมในอังกฤษตั้งแต่ยุค 70s เป็นต้นไป


และแม้อังกฤษจะลดบทบาทการเป็นมหาอำนาจจักรวรรดิลงไป แต่แบรนด์ชาหลายแห่งในอังกฤษก็ยังคงเป็นผู้นำในตลาดชาของโลกจวบจนปัจจุบันครับ


ประวัติศาสตร์โลก 5,000 ปี อยู่ในถ้วยใบโปรดของคุณ


การเดินทางของชาในฐานะเครื่องดื่มยอดนิยมของโลก ได้อยู่คู่กับประวัติศาสตร์มนุษยชาติมายาวนานกว่าที่ใครจะคาดคิด ชาได้เปลี่ยนรูปแบบจากน้ำอันศักดิ์สิทธิ์ในวัฒนธรรมประเพณีตะวันออก กลายมาเป็นสินค้าที่ชาวตะวันตกขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวัน และยังเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าทุกสรรพสิ่งบนโลกล้วนเชื่อมต่อถึงกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


ขอให้คุณเอนจอยกับชาถ้วยโปรดในมือ รวมไปถึงการได้ดื่มด่ำกับ Kombucha ตัวโปรด เพราะนี่คือเรื่องราวอันยาวนานและแสนพิเศษที่น้อยคนจะได้รับรู้ครับ


หากคุณสนใจอยากเริ่มต้นหมักคอมบูชาจากชาตัวโปรดด้วยตัวเองเพื่อสุขภาพ คุณสามารถสั่งซื้อหัวเชื้อคอมบูชาออแกนิค (Organic Kombucha SCOBY) จากเรา พร้อมวิธีทำอย่างละเอียด และรับสิทธิ์เข้าร่วมกลุ่มถามตอบเทคนิคการหมักแบบส่วนตัวได้ที่ Nature Kombucha หรือที่ Lazada Shop และ Shopee Shop ของเราเลยนะครับ


พิเศษสำหรับท่านที่อ่านมาจนจบ Code: TEA10 ส่งฟรี 35 บาทเมื่อซื้อครบ 300 บาทที่ Lineshop ใช้ได้วันนี้ถึง 31 กค. นี้เท่านั้น


ที่มา:






0 ความคิดเห็น
bottom of page