top of page

พรีไบโอติกส์ (Prebiotics) อีกส่วนสำคัญที่ควรทานคู่กับโพรไบโอติกส์ (Probiotics)

อัปเดตเมื่อ 30 เม.ย.


พรีไบโอติกส์ (Prebiotics) อีกส่วนสำคัญที่ควรทานคู่กับโปรไบโอติกส์ (Probiotics)


คุณทราบไหมว่า การจะทำให้สุขภาพของระบบย่อยอาหารและลำไส้ดีอย่างครบวงจรนั้น การทานเพียงอาหารที่มีโพรไบโอติก (Probiotics) อย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ แต่ควรต้องทาน “พรีไบโอติกส์” (Prebiotics) ร่วมด้วย


หลายๆคนที่เข้าสู่วงการการหมักคอมบูชาก็มักเข้ามาด้วยประโยชน์ของคอมบูชาว่ามีโพรไบโอติกส์ (Probiotics) หรือจุลินทรีย์ชนิดดีที่ช่วยเรื่องการขับถ่ายและสุขภาพของระบบย่อยอาหาร


จริงๆก็ถือเป็นเรื่องดีนะครับ แต่การเพิ่มแค่จุลินทรีย์ชนิดดีเข้าไปในระบบลำไส้อาจจะไม่เพียงพอ ซึ่งในปัจจุบันมักไม่มีใครพูดถึงวิธีที่จะรักษาระบบนิเวศของจุลินทรีย์ (microecology) เหล่านี้ให้คงอยู่ในร่างกายของเราอย่างยั่งยืน


โดยสูตรง่ายๆในการรักษาระบบนิเวศของจุลินทรีย์ก็คือ:


Microbiology = Dietary Fiber + Probiotics + Prebiotics


ซึ่งระบบนิเวศจุลินทรีย์ก็จะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยขึ้นกับสิ่งที่คุณทานเข้าไปว่าจะสามารถไปกระตุ้นการสร้างจุลินทรีย์ในระบบย่อยอาหารได้มากน้อยแค่ไหน การทานพรีไบโอติกส์ควบคู่ไปกับโพรไบโอติกส์ก็จะช่วยกระตุ้นการเติบโตของแบคทีเรียชนิดต่างๆในลำไส้ จึงส่งผลดีต่อสุขภาพและการทำงานของระบบร่างกายคุณได้นั่นเอง


แล้วพรีไบโอติกส์ (Prebiotics) ที่ว่านี้ แท้จริงคืออะไร สามารถพบได้จากที่ไหนบ้าง เราไปเรียนรู้พร้อมๆกันเลยครับ


พรีไบโอติกส์ (Prebiotics) คืออะไร?


พรีไบโอติกส์ (Prebiotics) คือ ส่วนประกอบในอาหารที่ไม่สามารถย่อยได้ อันจะส่งผลต่อการกระตุ้นการเติบโตและกิจกรรมต่างๆของแบคทีเรียภายในลำไส้ หากพูดง่ายๆ สิ่งนี้ก็คือ อาหารของจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ (Probiotics) ที่ทำให้จุลินทรีย์เติบโตในลำไส้ของเรานั่นเองครับ


สิ่งนี้จะมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับใยอาหาร (Dietary Fiber) เป็นอย่างมาก โดยมีลักษณะร่วมกันคือมันไม่สามารถย่อยได้ในด้วยเอนไซม์ของมนุษย์และถูกหมักและย่อยโดยจุลินทรีย์ในลำไส้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ใช่ใยอาหารทุกชนิดจะเป็น Prebiotics และไม่ใช่ Prebiotics ทุกตัวจะเป็นใยอาหารนะครับ


พรีไบโอติกส์ (Prebiotics) ที่มักพบได้ มักเป็นกลุ่มย่อยของโครงสร้างคาร์โบไฮเดรตจำพวก Oligosaccharide อันประกอบไปด้วยน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว 3-10 โมเลกุลเชื่อมต่อกัน อย่างเช่น Fructo-Oligosaccharides (FOS), Galacto-Oligosaccharides (GOS), และ Trans-Galacto-Oligosaccharides (TOS)


Asparagus หรือหน่อไม้ฝรั่ง มี "พรีไบโอติกส์" สูง


พรีไบโอติกส์ (Prebiotics) ต่างจาก โพรไบโอติกส์ (Probiotics) อย่างไร?


หากเราเปรียบโพรไบโอติกส์ (Probiotics) เป็นเหมือนคนงานตัวจิ๋วที่คอยดูแลรักษาสุขภาพลำไส้ของเรา พรีไบโอติกส์ (Prebiotics) ก็คงเป็นเหมือนอาหารเติมพลังให้กับคนงานเหล่านี้ให้อยู่รอดและทำงานได้ต่อไปนั่นเอง


ซึ่งจริงๆเรามีโพรไบโอติกส์ (Probiotics) อยู่ในร่างกายเราจำนวนหนึ่งอยู่แล้ว ทำให้แทนที่จะหมั่นเติมแต่โพรไบโอติกส์ (Probiotics) ที่หิวโหยเข้าในระบบลำไส้ของคุณเพียงอย่างเดียว การเติมพรีไบโอติกส์ (Prebiotics) ก็จะยิ่งช่วยบำรุงระบบลำไส้และสุขภาพโดยรวม โดยการ:


  • ทำให้จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในลำไส้เติบโต

  • ช่วยกู้คืนสมดุลระหว่างจุลินทรีย์ทั้งดีและไม่ดี

  • ช่วยโพรไบโอติกส์ (Probiotics) ในการสร้างสารเคมีที่มีประโยชน์อย่างกรดไขมันสายสั้น ทั้ง Acetate, Propionate, และ Butyrate ที่ช่วยปกป้องร่างกายจากเชื้อโรคต่างๆ

  • ช่วยในการดูดซึมแร่ธาตุต่างๆ เช่นแคลเซียม


ในขณะที่โพรไบโอติกส์ (Probiotics) เป็นจุลินทรีย์มีชีวิต แต่จะมีประโยชน์กับร่างกายได้ก็ต่อเมื่ออยู่รอดในลำไส้ รวมถึงยังอ่อนไหวง่ายกับความร้อน ความชื้น และระดับความเป็นกรด พรีไบโอติกส์ (Prebiotics) กลับเป็นสิ่งที่ไม่ต้องดูแลมากมายเพราะไม่ใช่สิ่งมีชีวิต สามารถอยู่ได้นานและไม่อ่อนไหวไปกับสภาพแวดล้อมอีกด้วยครับ


ในถั่วและเมล็ดธัญพืชประเภทต่างๆ มี "พรีไบโอติกส์" อยู่สูง

สามารถพบพรีไบโอติกส์ (Prebiotics) ได้ที่ไหนบ้าง?


ในขณะที่คุณสามารถพบโพรไบโอติกส์ (Probiotics) ได้ในอาหารประเภทหมักดองเช่น คีเฟอร์ โยเกิร์ต คีเฟอร์น้ำ กิมจิ คอมบูชา หรือขนมปัง Sourdough พรีไบโอติกส์ (Prebiotics) กลับพบได้ในผักผลไม้สดและธัญพืชที่มีกากใย รวมถึงมีคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน อย่างเช่น:


  • ข้าวโอ๊ตเต็มเมล็ด (Oat Groats), ข้าวโอ๊ตขัดเปลือก (Steel-Cut Oat) และข้าวบาร์เล่ย์

  • กล้วยและแอปเปิ้ล

  • เมล็ด Flax Seeds และ Chia Seeds

  • มันแกว, หัวบุก (Konjac Root)

  • หน่อไม้ฝรั่ง, หัวหอม, กระเทียม

  • ถั่วประเภทต่างๆ

  • ผลิตภัณฑ์จากโกโก้

  • สาหร่าย



Kombucha มีพรีไบโอติกส์ (Prebiotics) ด้วยหรือไม่?


น่าเสียดายที่คอมบูชาส่วนมากมักมีแต่โพรไบโอติกส์ (Probiotics) เป็นตัวชูโรง แต่ก็ใช่ว่าคุณไม่สามารถพบเจอคอมบูชาที่มีพรีไบโอติกส์ (Prebiotics) ได้เลยนะครับ


คุณสามารถหมักคอมบูชาเช่นนี้ด้วยวัตถุดิบที่แตกต่างออกไป โดยแทนที่จะใช้ชาดำหรือชาอู่หลงและน้ำตาลเป็นหลัก ก็ให้เปลี่ยนไปใช้ชาเขียวและน้ำผึ้งแทน โดยใช้กระบวนการหมักแบบเดียวกับคอมบูชาที่มี SCOBY ทุกประการ โดยในการหมัก น้ำผึ้งจะเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ทำปฏิกิริยากับ SCOBY แตกต่างออกไป จนทำให้ยังสามารถรักษาส่วนประกอบที่เป็น Prebiotics เอาไว้ได้


แต่สิ่งนี้ก็จะเปลี่ยนชื่อเรียกกลายไปเป็นน้ำหมักอีกประเภทที่เรียกว่า จุน “Jun” นั่นเองครับ



สร้างระบบนิเวศให้จุลินทรีย์ในร่างกายคุณ


ดังนั้นแล้ว การจะดูแลรักษาสุขภาพลำไส้ให้แข็งแรง นอกจากการรับประทานอาหารที่มีโพรไบโอติกส์ (Probiotics) แล้ว ก็อย่าลืมรับประทานอาหารที่มีพรีไบโอติกส์ (Prebiotics) ควบคู่ไปด้วยนะครับ เพื่อเป็นการหล่อเลี้ยงจุลินทรีย์ในร่างกายของเราให้เติบโตและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ


และหากคุณอยากเริ่มต้นเสริมสร้างระบบนิเวศจุลินทรีย์ในร่างกายของคุณให้แข็งแรง การหมักคอมบูชาทานเองก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกสุขภาพที่ทั้งสนุกและเฮลตี้ไปพร้อมๆกัน หากยังไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหน คุณสามารถสั่งซื้อหัวเชื้อคอมบูชาออร์แกนิคชั้นดี (Organic Kombucha SCOBY) พร้อมวิธีทำอย่างละเอียด และรับสิทธิ์เข้าร่วมกรุ๊ปถามตอบเทคนิคการหมักแบบ Private ได้ที่ Nature Kombucha หรือที่ Lazada Shop และ Shopee Shop ของเราเลยนะครับ


ที่มา:




Comments


bottom of page